วันนี้ผมอยากจะเสนอแล้วคิดใหม่ให้ท่านหันมาเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนภาษาจีนถามว่าเรียนภาษาจีนยากไหม ขอตอบว่าไม่ยากครับ หรืออย่างน้อยจะไม่ยากอย่างที่หลาย ๆ ท่านคิด ถ้าคุณรู้สึกคำตอบนี้ยังไม่ชัดเจนพอก็ขอบอกว่า สำหรับธรรมชาติของคนไทยแล้ว ภาษาจีนเรียนง่ายกว่าภาษาอังกฤษมาก ถ้าให้คนไทยคนหนึ่งที่ไม่เคยเรียนทั้งภาษาทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษมาเริ่มเรียนสองภาษานี้พร้อม ๆ กัน โดยปัจจัยในด้านอื่น ๆ เหมือนกันหมดจะพบว่าเมื่อเรียนไปสักระยะหนึ่งพูดภาษาอังกฤษยังได้ไม่เท่าไหร่แต่ภาษาจีนไปไกลโลดแล้ว มีนักเรียนจำนวนมากที่เรียนภาษาจีนต่างยอมรับว่า เรียนภาษาจีนแค่ร้อยกว่าชั่วโมงก็สามารถพูดได้มากกว่าภาษาอังกฤษที่เรียนมาตั้งแต่เด็ก ถูกต้องแล้วครับ ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าคนไทยเราได้เปรียบกว่าชาติอื่น ๆ ในการเรียนภาษาจีน กล่าวคือ ภาษาไทยกับภาษาจีนคล้ายคลึงกันมาก

 

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า "ภาษาที่เราพูดถึงในภาษาไทยหมายถึงสองส่วนคือ

  1. ภาษาที่พูดออกมาเป็นเสียง ประกอบด้วยระบบการออกเสียง ระบบคำศัพท์ ระบบไวยากรณ์
  2. ระบบการเขียน (หรือระบบอักษร)

      ที่คนไทยทั่ว ๆ ไปรู้สึกว่าภาษาจีนนั้นเรียนยาก เพราะไปเห็นระบบการเขียนที่สลับซับซ้อนของภาษาจีน ซึ่งเหมือนกับเป็นภาพลวงตาที่พลอยทำให้เข้าใจผิดว่าภาษาจีนเรียนยากกว่าภาษาอื่น ๆ ในส่วนนี้คงต้องยอมรับว่าระบบการเขียนของภาษาจีนเป็นระบบการเขียนที่สลับซับซ้อนมาก แต่ถ้าวิธีการเรียนการสอนถูกต้อง ก็ไม่ใช่ว่าจะยากเกินไป

      แต่ในอีกด้านหนึ่ง อยากให้คนไทยที่เรียนภาษาจีนมีความมั่นใจว่าคนไทยเราได้เปรียบมากในการเรียนภาษาจีน เพราะนอกจากระบบการเขียนแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของภาษาจีนคล้ายคลึงกับภาษาไทยมาก กล่าวคือ นอกจากภาษาบางภาษาในตระกูล Tai (ไทแล้ว ในโลกนี้คงไม่มีภาษาใดจะใกล้เคียงกับภาษาจีนมากกว่าภาษาไทยได้อีก ความคล้ายคลึงกันระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย รวมทั้งความได้เปรียบของคนไทยในส่วนนี้จะช่วยให้คนไทยเรียนรู้ภาษาจีนได้เร็ว เรียนรู้ได้ง่าย จะไม่ฝืนความรู้สึกและความเคยชินในการใช้ภาษาจนมากเกินไปเหมือนเรียนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ดังนั้นการที่จะทำให้ตนเองสามารถพูดภาษาจีนในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันและการทำงานได้พอสมควร จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับคนไทย

ต่อไปเราจะมาดูความคล้ายคลึงระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทย และคุณจะได้เข้าใจว่า ทำไมผมอยากให้คุณเปลี่ยนทัศนคติที่เกี่ยวกับการเรียนภาษาจีน

1. ด้านระบบการออกเสียง

      ยอมรับว่าคนไทยเรามีพรสวรรค์สูงมากเกือบทุกคนในด้านนนี้ เนื่องจากระบบการออกเสียงของภาษาจีน(กลางใช้เสียงค่อนข้างน้อย ขณะที่ระบบการออกเสียงของภาษาไทยใช้เสียงค่อนข้างเยอะดังนั้นในภาษาจีนจึงมีอยู่ไม่กี่เสียงที่หาเสียงเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันในภาษาไทยไม่ได้ นอกจากนั้นในภาษาไทยมีเกือบครบ (ตรงกันข้ามกับคนจีนทีเรียนภาษาไทยการที่ระบบการออกเสียงของภาษาไทยใช้เสียงค่อยข้างเยอะนั้นทำให้คนไทยหูไว ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเลียนแบบการออกเสียง (เพราะถ้าฟังไม่แม่น ย่อมจะออกเสียงไม่ถูกสังเกตได้จากนักเรียนที่เรียนภาษาจีนเกือบทุกคนสามารถออกเสียงชัดหรือชัดมาก มีหลายคนเคยมีโอกาสพูดคุยกับคนจีน และได้รับคำชมว่าพูดชัดกว่าคนจีนทั่วไปด้วยซ้ำ
ส่วนเสียงที่คนไทยเราจะรู้สึกลำบากหน่อยมีดังนี้

  • สระ ü รวมทั้งสระผสมที่เริ่มต้นด้วย ü คือ üe üan ün

      เคล็ดลับในการออกเสียงคือ ทำริมฝีปากให้เป็นรูปกลมเล็ก ๆ แล้วยื่นปากออกมากด้วย (อย่ากลัวว่าไม่สวยนะครับถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ทำปากอยู่ในตำแหน่งผิวปาก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้เคียงมากกับการออกเสียงของสระ ü

  • พยัญชนะที่ห่อลิ้น 4 เสียง คือ zh ch sh r

      ทั้งสี่เสียงมีลักษณะเดียวกัน คือตอนที่ออกเสียง ปลายลิ้นต้องห่อขึ้นไปแตะเพดานอ่อนจึงรู้สึกค่อนข้างเกร็งและเมื่อยลิ้น ส่วน zh ch sh เราสามารถนำไปเทียบกับ z c s ได้ กล่าวคือ

z - zh  c -  ch  s - sh

       ระหว่างแต่ละคู่จะออกเสียงใกล้เคียงกันมาก ต่างกันแค่ zh ch sh ห่อลิ้น ส่วน z c s ไม่ห่อลิ้น

       ส่วนเสียงวรรยุกต์นั้นยิ่งไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับคนไทย เพราะภาษาจีนกลางมีเสียงวรรณยุกต์เพียงสี่เสียง ง่ายกว่าภาษาไทย และมีเพียงวรรณยุกต์ที่สามที่ไม่มีในภาษาไทย คงต้องระวังหน่อย เสียงนี้เริ่มค่อนข้างต่ำ ลงมาต่ำสุดก่อนที่จะขึ้นไปค่อนข้างสูง

2. ระบบคำศัพท์

      ภาษาจีนกับภาษาไทยต่างก็เป็นภาษาคำโดด คือหนึ่งคำหนึ่งพยางค์(มีการเปลี่ยนในช่วงหลัง แต่จนทุกวันนี้รากศัพท์และศัพท์พื้นฐานในสองภาษานี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนึ่งพยางค์จึงตรงกับความเคยชินของคนไทย และที่สำคัญคือ วิธีการสร้างคำก็ใกล้เคียงกันมาก คือนำเอารากศัพท์มาประกอบกันขึ้นมา (สิ่งที่ต้องระวังคือ ในภาษาจีนส่วนที่ขยายต้องอยู่ข้างหน้าของส่วนที่ถูกขยายอยู่เสมออย่างเช่น

书 (shū หนังสือ) + 店 (diàn ร้าน) = ร้านหนังสือ 
学 (xué เรียน) + 生 (shēng คน) = นักเรียน
地 (dì แผ่นดิน) + 震 (zhēng สั่น) = แผ่นดินไหว

      สิ่งที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งก็คือ ดูเหมือนว่าแนวความคิดของคนจีนกับคนไทยในด้านการสร้างคำ การใช้คำ รวมทั้งการเล่นอุปมาอุปไมยนั้นสอดคล้อกันอย่างเหลือเชื่อ ในสองภาษานี้จึงมีคำศัพท์และคำพูดมากมากเหมือนถอดออกจากแบบอันเดียวกวัน เพราะตรงกันเกือบคำต่อคำเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

脸色(สี่หน้า)   放心(วางใจ)   开心(เบิกบานใจ)   中心(ศูนย์กลาง)    手快(มือไว) 

多嘴(ปากมาก)   嘴甜(ปากหวาน)   面子大(หน้าใหญ่)   有面子(มีหน้ามีตา)   找事(หาเรื่อง)  

直来直去(ตรงไปตรงมา)   梦想成真(ฝันที่เป็นจริง)   从头到脚(จากหัวจดเท้า)

皮包骨(หนังหุ้มกระดูก)    或多或少(ไม่มากก็น้อย)

      ซึ่งคำศัพท์ที่ตรงตัวจำนวนมากมายเหล่านี้จะช่วยให้โอกาสแปลตรง ๆ ระหว่างสองภาษานี้มีมากกว่าอีกหลายภาษาเป็นอย่างมากดังนั้นเวลาเรียนหรือใช้ภาษาจีน คนไทยจะรู้สึกค่อนข้างเคยชิน เพราะใกล้เคียงกับนิสัยในการใช้ภาษาของตนเอง

     นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากภาษาจีนกับภาษาไทยต่างก็อาศัยการเรียงคำเป็นหลัก และมีความคล้ายคลึงกันในด้านไวยากรณ์เป็นอย่างมาก จึงทำให้ระบบคำศัพท์ของสองภาษานี้สอดคล้องกันมากถ้าเทียบกับภาษาอื่น โดยเฉพาะคำศัพท์ประเภทคำกริยาวิเศษณ์กับคำสันธาน ทั้งความหมายและวิธีการใช้ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งความคล้ายคลึงกันขนาดนี้คงหาได้ยากในภาษาอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น

也(yě ก็...เหมือนกัน)  就(jiù ก็)  正在(zhèngzài กำลัง)  刚(gāng เพิ่ง)  才(cái จึง, ถึงจะ, แค่)

常常(chángcháng บ่อย ๆ )  一。。。就。。。 (yī...jiù....  ...ปุ๊ป...ปั๊ป)

连。。。都。。(lián...dōu...  แม้แต่...ก็...)   除了。。。以外(chúle...yǐwài  นอกจาก....แล้ว...)

只是。。。罢了(zhǐshì...bàle   เพียงแต่...เท่านั้น)

不仅。。。,而且。。。(bùjǐn...,érqǐe...  ไม่เพียงแต่....และยัง...)

หรือแม้กระทั้งรูปวลีพิเศษบางรูปยังตรงกันหรือใกล้เคียงกันอย่างไม่น่าเชื่อเลย เช่น

รูป A A B B ของคำกริยา

来来往往(ไป ๆ มา ๆ )     走走亭亭(เดิน ๆ หยุด ๆ)    躲躲藏藏(หลบ ๆ ซ่อน ๆ)

上上下下(ขึ้น ๆ ลง ๆ)

รูป A 来 A 去 (...ไป....มา) ของคำกริยา

想来想去(คิดไปคิดมา)    问来问去(ถามไปถามมา)   说来说去(พูดไปพูดมา)

拐来拐去(เลี้ยวไปเลี้ยวมา)

รูป 一边。。。一边。。。 (...พลาง....พลาง, ...ไป.....ไป) ของคำกริยา

一边说一边笑(พูดไปหัวเราะไป)    一边看一边问(ดูไปถามไป)

一边读书一边工作(เรียนหนังสือไปพลางทำงานไปพลาง)

รูป 越 A 越 B (ยิ่ง A ยิ่ง B) ของคำกริยาหรือคำคุณศัพท์

越跑越快  越多越好    越学越喜欢

รูป 又。。。又。。。 (ทั้ง...ทั้ง...) ของคำกริยาหรือคำคุณศัพท์

又恨又爱(ทั้งรักทั้งเกลียด)  又吃又喝(ทั้งดื่มทั้งกิน)   又快又好(ทั้งเร็วทั้งดี)

又冷又饿(ทั้งหนาวทั้งหิว)    又经济又美观(ทั้งประหยัดทั้งสวยงาม)

ฯลฯ ยังมีอีกเยอะมากครับ

      ดังนั้นคนไทยจึงสามารถเข้าใจระบบคำศัพท์ของภาษาจีนได้ง่ายดาย และใช้งานสะดวกอีกด้วย เพราะตรงกับวิธีคิดของคนไทย

3. ระบบไวยากรณ์

      ภาษาจีนกับภาษาไทยมีความคล้ายคลึงกันในด้านไวยากรณ์เป็นอย่างมาก โดยต่างก็อาศัยการเรียงคำเป็นหลัก เวลาเรียนภาษาจีนถ้าทำความเข้าใจกับความแตกต่างระหว่างภาษาจีนกับภาษาไทยในด้านไวยากรณ์ รูปประโยคพิเศษ รวมทั้งวิธีการใช้พิเศษของคำบางคำก็จะเรียงคำด้วยตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโครงสร้างหลักของประโยคส่วนใหญ่จะเหมือนหรือใกล้เคียงกับภาษาไทยเป็นอย่างมาก มีหลายท่านบอกว่า นึกไม่ถึงว่าภาษาจีนกับภาษาไทยจะใกล้เคียงกันถึงขนาดนี้ จริง ๆ แล้วไม่แปลกเลย เพราะโครงสร้างทางความคิดของจีนกับไทยใกล้เคียงกันมาก อย่างเช่น

等  他    来   了    我   就   回     家。
รอ  เขา  มา  แล้ว  ฉัน  ก็    กลับ  บ้าน

请     你    出     去   叫     他   快   进   来  吃    饭。
เชิญ  คุณ  ออก  ไป  เรียก  เขา  รีบ  เข้า  มา  กิน  ข้าว

我们班        还  没  有 谁    有          泰文词典。
ชั้นเรียนเรา  ยัง  ไม่  มี   ใคร   มี    พจนานุกรมภาษาไทย

你    说 我    学      中文      好   还是     学      日文         好?
เธอ  ว่า  ฉัน  เรียน  ภาษาจีน  ดี    หรือ    เรียน  ภาษาญี่ปุ่น   ดี

ปรากฎว่าสี่ประโยคนี่สามารถแปลเป็นไทยคำต่อคำได้เกือบ 100% (มีแค่บางวลี ส่วนขยายในภาษาจีนอยู่ข้างหน้าส่วนที่ถูกขยาย) ไม่เกินไม่ขาดแม้แต่คำเดียว!

      นี่คือความได้เปรียบในแต่ละด้านของคนไทย ซึ่งทำให้คนไทยเรียนภาษาจีนง่ายกว่าคนชาติอื่น ๆ สามารถเห็นผลได้เร็ว แต่เราต้องมีตำราเรียนที่ดีและครูที่สอนเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นตำราเรียนกับครูที่รู้จักดึงเอาความได้เปรียบของคนไทยในส่วนที่ภาษาจีนกับภาษาไทยคล้ายคลึงกันเข้ามาช่วย และแน่นอนนักเรียนต้องมีความตั้งใจจริงด้วย หวังว่าฟังผมร่ายยาวมาถึงตรงนี้แล้ว คุณคงมีความมั่นใจในการเรียนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเรียนภาษาไหน การที่จะเรียนให้แตกฉานนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ภาษาจีนก็เหมือนกัน ถ้าจะเรียนให้ถึงระดับพอจะพูดได้ คงจะไม่ใช่เรื่องยากเลยแต่ถ้าให้ถึงขั้นที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ คงต้องใช้ความมานะอดทนและความขยันไม่แพ้การเรียนภาษาอื่น ๆ โดยเฉพาะกับระบบการเขียนของจีน ต้องหมั่นฝึกฝนถึงจะเกิดความชำนาญในที่สุดได้